ห้องเรียนในฝัน.........ที่มีชีวิตชีวา
พรรณี ชุติวัฒนธาดา
ทำไมในหลายวิชาหลักและวิชาแกนจึงมีนักเรียนสอบตกกันมากและอีกจำนวนไม่น้อยได้เกรดค่อนข้างต่ำ
ทำไมนักเรียนที่จัดได้ว่าเป็นนักเรียนระดับเรียนดี  เมื่อสำเร็จการศึกษาจึงมีคะแนน GPA ค่อนข้างต่ำ เป็นผลทำให้ยากลำบากต่อการแข่งขันในการหางานทำ และการศึกษาต่อ เนื่องจากมีการเปรียบเทียบผลจาก คะแนน GPA
ทำไมนักเรียนบางคนมีประวัติการเรียนในระดับดีมากตลอดเวลาที่เรียนในโรงเรียน แต่ไม่สามารถสอบ เอ็นทรานซ์เข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย
ทำไมนักเรียนจึงมีผลการชนะการแข่งขันกิจกรรมทักษะต่างๆกับโรงเรียนอื่น น้อยนัก  เป็นเพราะ นักเรียนของเราสู้เขาไม่ได้หรือ

          ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาด้านวิชาการของโรงเรียนในยุคปัจจุบันเลยทีเดียว  เราพร้อมที่จะลองทบทวน  ควานหาต้นเหตุ  และแก้ปัญหาอย่างจริงจังกันหรือยัง?

         สิ่งที่อยากนำเสนอในที่นี้คือ  การสร้างโมเดลการศึกษาใหม่ โดยเน้นในรูปแบบการประยุกต์ไอทีกับ
ห้องเรียนที่มีชีวิตชีวา

มูลเหตุแห่งโมเดลการเรียนการสอนแบบเดิม
          การเรียนการสอนในปัจจุบันเน้นรูปแบบการเรียนการสอนแบบซิงโครนัส (synchroneous)อย่างเดียว อาจารย์มีตารางสอน และเข้าสอนตามเวลา เน้นอาจารย์อยู่หน้าห้อง  สอนด้วยการพูด และเขียนกระดาน หรือปิ้งแผ่นใสเป็นหลัก นักเรียนเป็นผู้รับฟัง  นั่งฟังเฉยๆ  หมดเวลาก็ออกนอกห้อง  การวัดผลเน้นการสอบ  โดยเฉพาะมีการกำหนดสอบ  กลางภาค และปลายภาค คะแนนของการสอบมีผลสูงสุด นักเรียนจึงต้องเรียน  เพื่อสอบ   รูปแบบการสอบวัดผลส่วนใหญ่  ก็ยังเป็นแบบท่องจำ เนื้อหาในการเรียนการสอนมีมากมายไปหมด  อาจารย์จะเน้นว่าต้องให้เนื้อหามาก ๆ นักเรียนค้นคว้าหรือหาเองน้อย  เรียนหรือสอนกันตามตำรา ว่ากันไปเป็นบท  ส่วนใหญ่ก็ใช้ตำราเป็นหลัก นักเรียนขาดการแสวงหาเพราะเป้าหมายอยู่ที่ตำราเล่มเดียว อาจารย์หลายท่านมีเกณฑ์มาตรฐานของตนเองเป็นหลัก  โดยเฉพาะวัดผลจากการสอบอย่างเดียว

ไอทีกับห้องเรียนที่มีชีวิตชีวา (เรียนอย่างมีชีวิตชีวา)
        ต้องยอมรับว่านักเรียนยุคปัจจุบันเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ เป็นเด็กที่เกิดมาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีไอที อาจารย์ผู้สอนส่วนใหญ่เกิดในยุคเก่า (ยุคที่ไม่มีไอทีใช้ในตอนเด็ก) ดังนั้นจึงมีช่องว่างในหลายๆเรื่องที่จะต้อง
หาทางลดช่องว่างเหล่านี้ลงให้ได้
       ปัจจุบันถ้าสำรวจข้อมูลนักเรียนจะพบว่านักเรียนในโรงเรียนจำนวนไม่น้อยเลยที่ใช้คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตได้   ใช้เล่นเกมได้  ใช้ส่งอีเมล์ หรือมีอีเมล์แอดเดรสของตนเอง ใช้เล่น chat ใช้ไอซีคิวเป็น ใช้รูปแบบการสนทนาหลากหลายแบบ มีทั้งแบบออนไลน์ และแบบทิ้งข้อความไว้ เช่น เว็บบอร์ด ดังนั้นเวทีการใช้งานคอมพิวเตอร์และเครือข่าย
ในปัจจุบันจึงเป็นเวทีของนักเรียนเพื่อใช้เล่นมากกว่าใช้เรียนรู้ ทำให้ไม่น่า แปลกใจเลยว่า ทำไมนักเรียนรุ่นใหม่เขียนหนังสือไม่ค่อยเป็น แต่พิมพ์หนังสือ หรือทำรายงานได้ดี ใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดการเอกสารได้ดี และที่สำคัญคือ ตัดและปะเก่ง ทำไมร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่  จึงมีทั่วเมือง และส่วนใหญ่ของลูกค้า ที่ใช้คือ เด็กและเยาวชนในวัยนักเรียนของเรา และทำไมสถิติผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
ที่เนคเทคสำรวจมาตลอด ผู้ใช้ส่วนใหญ่ถึงกว่าเจ็ดสิบเปอร์เซนต์เป็นผู้ที่มีอายุ
ต่ำกว่า 25 ปี หรือหากพิจารณาลงรายละเอียดจะพบว่าเป็นนักเรียน  ซึ่งเราน่าจะนำจุดเด่นเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์และเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่
เพื่อสร้างห้องเรียนให้มีชีวิตชีวาดุจเดียวกับที่นักเรียนใช้งานเครือข่ายของเขาเองได้
        ห้องเรียนที่มีชีวิตชีวาดังว่านี้  เป็นห้องเรียนที่มีทั้งสภาพแบบ real และ Virtual ผสมกัน ห้องศูนย์ต่างๆที่มี คอมพิวเตอร์ (มีหลายห้องอยู่แล้ว)สามารถเชื่อมเครือข่าย และมี LCD เพื่อใช้ฉายภาพ ตลอดจนมีระบบไอที ช่วยให้ห้องเรียนมีชีวิตชีวา  การจัดห้องเรียนแบบ real จึงประกอบด้วยเครื่องมือไอทีที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเครือข่าย ห้องเรียนในฝันนี้จะใช้เครือข่ายแลน (LAN)ไร้สาย และให้นักเรียนใช้อุปกรณ์ไอทีเชื่อม ต่อได้ เช่น ใช้ปาล์ม พ็อกเก็ตพีซี หรือโน้ตบุค  การเรียนจะเปลี่ยนรูปแบบ   อาจารย์ผู้สอนสามารถสร้างบทเรียน แบบมัลติมีเดีย บทเรียนที่มีภาพ มีวิดีโอ หรือมีรูปแบบที่ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น ผู้เรียนสามารถโต้ตอบและแสดงความคิดเห็นได้ มากขึ้น
           ห้องเรียนจึงเหมือนประตูสู่โลกกว้างที่อาจารย์พร้อมพานักเรียนท่องโลดแล่น
ออกไปได้  นอกจากนั้น การเรียนการสอนเน้นรูปแบบ Virtual ด้วย กล่าวคือมี Virtual Classroom นักเรียนสามารถเข้ามาในห้องเรียน เวลาใดก็ได้ (Asynchronous) มีการ chat ระหว่างเพื่อน   มีการใช้เว็บบอร์ดโต้ตอบเพื่อการเรียนแบบพึ่งพาร่วมกัน (Collaboration classroom) ใช้สื่อต่าง ๆ ร่วมกัน ทั้งอีเมล์ (E-Mail)  ดิจิตอลไลบรารี (Digital library) การเรียนแบบ Virtual และ Asyncronousทำให้บรรยากาศในห้องเรียนตรงตาม
ความต้องการของนักเรียนที่ชอบ chat ชอบพูด ชอบคุย ชอบแสดงออก รวมทั้งการแสดง
ความคิดเห็นจะเป็นอิสระมากขึ้น
            การเรียนแบบห้องเรียนในฝันที่มีชีวิตชีวา (active classroom)นี้ จะเน้นวิธีการ ที่ให้นักเรียนได้ค้นคว้า แสดงออก  การทำโฮมเพ็จสำหรับรายงานในวิชา  การค้นหารวบรวมข้อมูล  การทำการบ้าน ทำโครงงานผ่านทางโฮมเพ็จของนักเรียน
ซึ่งเป็นบรรยากาศที่นักเรียนชอบและตรงกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการใช้
เครือข่ายอยู่แล้ว

นักเรียนทำการบ้านส่งอาจารย์ผ่านทางโฮมเพจ
          ก่อนอื่น  ต้องการถามระบบเดิมก่อนว่า การวัดผลที่ใช้สอบและวัดความรู้ที่จดจำ  จะได้อะไร    เพราะหลัง จากสอบเสร็จเพียงหนึ่งสัปดาห์ นักเรียนก็ลืมหมด  แต่การวัดผลแบบใหม่ที่พึงประสงค์ จะอยู่ที่ขบวนการเรียนรู้  การค้นหา  การแสวงหา  ความมีชีวิตชีวา (active)  ลองนึกดูว่า  ถ้าให้นักเรียน  ทำรายงานผ่านโฮมเพ็จ โต้ตอบบนเว็บบอร์ด ใช้อีเมล์ และ chat  สิ่งเหล่านี้จะตรงใจนักเรียนได้มากเพียงไร  ความกระตือรือร้นจะเกิดเอง  การเรียนรู้ด้วยวิธีนี้ น่าจะได้ผลดีกว่า นักเรียนน่าจะมีชีวิตชีวา ไม่ต้องเคร่งเครียดมาก  และผลของการเรียนรู้ จะสร้างอารมณ์ อุปนิสัย ตลอดจนความเป็นผู้กระตือรือร้นได้ดีกว่า  นักเรียนจะมีความสุขด้วย
ดังนั้นการวัดผล การเรียนรู้ของนักเรียนในห้องเรียนจึงน่าจะเน้นที่การทำรายงาน  การสร้างโครงงาน การคิด การตอบโต้ ซึ่งระบบไอทีสามารถเข้ามาช่วยได้มากๆ

เราจะมาช่วยกันปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนของเราใหม่   ..........ได้หรือยัง



จัดโฮมเพจโดยพรรณี ชุติวัฒนธาดา //17 ธันวาคม 2544.