หากจิตสลาย....

พรรณี ชุติวัฒนธาดา

    ชายไทยร้อนวิชาเข้าขั้น  ถึงขนาดขึ้นไปบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินท่ามกลางความร้อนของเปลวแดด ยิ่งเห็นบรรดาไทยมุง
ประกอบด้วยสื่อมวลชนที่มารอทำข่าวกันอย่างใจจดใจจ่อ
เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักจิตวิทยามือโปรช่วยกล่อมคนสติแตก  แถมผู้คน
ที่อยากรู้เรื่องราว  ชายผู้นั้นก็ยิ่งออกฤทธิ์ออกเดชมากเข้าไปอีก
กว่าจะเจรจาให้ลงมาได้ พานรัฐธรรมนูญ ก็หายไปแล้ว  ชายผู้บ้าคลั่งใช้ฆ้อนทุบทิ้งอย่างเมามัน  กรุงเทพมหานครคงต้อง
เสียเงินซ่อมแซมไม่น้อย
    สามีขี้โมโหตามง้อขอคืนดีกับภรรยาไม่เป็นที่ตกลง ฝ่ายชายใช้มีดสับร่างหญิงสาวที่ตัวบอกว่ารักสุดหัวใจ จนไม่อาจจะ
มีชีวิตต่อไปได้ ถ้าไม่มีเธอ  เสร็จสรรพกระโดดลงไปให้เครื่องจักร
ย่อยร่างตัวเอง กว่าจะช่วยขึ้นมาได้ ร่างกายก็แหลกเหลวไปครึ่งร่าง เสียชีวิตอย่างน่าเวทนา
    เด็กหญิงวัย 14  ก่อคดีฆ่าเด็กชาย-หญิงสองพี่น้องในห้องน้ำ
สาธารณะด้วยอารมณ์โกรธแค้นชั่ววูบ เหตุเพียงเพราะเด็กผู้ตายเอา
เหล็กแหลมไปขูดม้าเด็กเล่นของหลานชาย เด็กหญิงมือฆาตกรรัดคอ
เด็กสองพี่น้อง แล้วจับกดน้ำจนตาย อย่างเหี้ยมเกรียมชนิดยากจะเชื่อ
ว่าเด็กวัยนี้จะมีจิตใจฆ่าคนได้อย่างเลือดเย็น  ผลการสอบสวน
พบภูมิหลังของเด็ก เป็นคนอารมณ์ร้ายเพราะเคยไปเป็นพยาน
ในคดีลอบวางเพลิง และถูกผู้จ้างวานจับตัวไปมัดมือมัดเท้า จับกดน้ำ
หวังฆ่าให้ตายแต่รอดชีวิตกลับมาได้
    เพียงตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้น และเป็นข่าวครึกโครม ยังไม่นับการกระทำอีกมากมายที่บ่งบอกให้เราประเมิน
ถึงภาวะของสังคมไทย ได้เป็นอย่างดีว่า ยอดของคนที่ไม่สามารถ
ควบคุมอารมณ์ตนเองให้อยู่กับร่องกับรอย จนไปก่อความเดือนร้อน
ให้ผู้อื่นนั้นสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว และมันช่างน่ากลัวสักเพียงใด
ที่เราต้องอยู่ร่วมกับคนเหล่านี้ โดยไม่มีวันรู้ว่าวันดีคืนดีจะต้องเผชิญหน้า
กับพวกเขาและตกเป็นเหยื่อเข้าที่น่าเจ็บปวดก็คือ ครอบครัวของผู้ที่ต้อง
สูญเสียจากเงื้อมมือของคนสติแตกเหล่านี้ไม่สามารถรับการชดเชยใดๆ
เพราะกฎหมายไม่อาจเอาผิดกับคนที่ทำอะไรลงไปโดยปราศจากสติ
สัมปชัญญะ
    และปัญหาก็คือทำอย่างไรเราจะมีความมั่นคงทางจิตใจ
และมีปลอดภัยในชีวิตท่ามกลางสังคมที่มีผู้คนสติแตกนี้ได้
    ความจริงสิ่งที่เราควรตะหนักก่อนอื่น ก็คือ  ทุกวันนี้โอกาสที่แต่ละคน
จะเป็นโรคจิตสลายนั้นมีได้มากเหลือเกิน
ลองสำรวจตัวเองดว่า  เรามีอาการต่อไปนี้หรือเปล่า
1. รู้สึกหมดอาลัยตายอยากเหมือนมอดไหม้ไปหมดทั้งตัวหรือไม่
2. เริ่มมีอะไรผิดปกติไปบ้างไหมในความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนรอบๆตัว
3. อะไรๆที่เคยทุ่มเทเพื่อให้ชีวิตดีขึ้น  บัดนี้กลับเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมาย
อีกต่อไปหรือเปล่า
4. ลูกๆดูไม่มีความสุขและห่างเหินไปหรือไม่
5. เพื่อนร่วมงานหลีกหนีไม่อยากคบหาใช่ไหม
6.งานที่ทำกลายเป็นงานที่เคร่งเครียดยุ่งเหยิง ...น่าเบื่อหรือเปล่า
7.เริ่มจะเสาะแสวงหาหนทางใหม่ที่เสี่ยงเพื่อจะนำความรู้สึกมีชิวิตชีวา
กลับมาไหม
8.นึกอยากจะเก็บของเสียให้หมดแล้ววิ่งหนีไป หรือเปล่า
ถ้ามีอาการข้างต้น  แม้เพียงข้อเดียว  แสดงว่าสัญญาณที่จะตกอยู่ในภาวะ
จิตสลายมาแล้ว
    อาการของคนจิตสลายจะเริ่มจากความเหนื่อยอ่อน  หมดเรี่ยวหมดแรง
เริ่มแยกตัวออกจากคนอื่น  เฉยเมย  มึนชา ห่างเหิน  ความรู้สึกตายด้าน
เบื่อหน่าย  ชอบพูดจาประชดประชัน  ใจร้อน  ขี้หงุดหงิด
ความไม่อดทนจะเกิดขึ้นและเพิ่มมากขึ้น  จะรู้สึกรำคาญทุกคนที่อยู่รอบข้าง
คนจิตสลายจะโทษแต่คนอื่น มีความรู้สึกว่าตนเองเก่งเหลือหลาย
ชอบพูดเกินความจริง ซึ่งเกือบจะเข้าขั้นหลงตัวเอง หวาดระแวงว่า
ตนจะไม่ได้รับการยกย่องจากผู้อื่น  รู้สึกว่าถูกรังแกและถูกทำร้าย
เมื่ออาการจิตสลายเพิ่มขึ้น จะรู้สึกแปลกและแยกตัวจากสังคม
มีอาการใจลอย  สลดหดหู่  จ้องมองไปในความว่างเปล่าหรือ
อาจนอนได้ทั้งวัน  ไม่อยากอาหาร  ไม่มีความปรารถนาในเรื่องเพศ
ชีวิตดูเหมือนไร้ความหมาย  และอาจฆ่าตัวตายได้
    ท่ามกลางโรคจิตสลายและอาการสติแตกที่กำลังแพร่ระบาดอยู่
ในสังคมไทยทุกระดับ วิธีที่ป้องกันไม่ให้ตัวเราต้องติดโรคนี้ เหมือนคนอื่นนั้น
คงมีอยู่บ้าง  นายแพทย์วิทุร  แสงสิงแก้ว อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข
เคยกรุณาให้ คำแนะนำผู้เขียน  ดังนี้
1. พยายามสร้างความสมดุลระหว่างตัวเรากับสังคม เราต้องทำตัวให้แข็งแรงขึ้น สร้างภูมิคุ้มกันอาการจิตสลาย ด้วยการเรียนรู้ว่าโลกย่อมเป็นไปอย่างที่มันเป็นอยู่  เราอาจต้องสูญเสียอุดมคติไปบ้าง เราอาจจะต้องลดหย่อนมาตรฐานในงานลงบ้าง แต่เราจะมีความสงบในจิตใจ  และเมื่อจิตสงบเราจะมีภูมิคุ้มกันและอยู่เหนือปัญหาทั้งปวง
2. รู้จักที่จะสื่อสารกับใครๆอย่างเหมาะสม  พูดในสิ่งที่ตนเองคิด  เพื่อคนอื่น
จะได้เข้าใจความรู้สึก การได้เจรจาพาที พูดคุยเป็นวิธีง่ายๆในการคลี่คลายปัญหา
3. รู้จักฟังอย่างตั้งใจและเข้าใจ   เป็นนักฟังที่ดี  นักฟังที่ดีเหมือนผู้มีเวทมนตร์  สามารถทำให้คนอื่นๆรู้สึกดีขึ้นและมีค่าขึ้น  เช่นเดียวกับที่ เมน จอห็นสัน  นักเขียนและนักปรัชญาอังกฤษให้แง่คิดว่า การสนทนาที่ดีคือการแลกเปลี่ยน
การตอบสนองคำพูด ของกันและกัน ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม
การสนทนาอย่างมีความสุขคือ ไม่มีการชิงดีชิงเด่น มีสาระ  เป็นไปอย่างสงบ  ถ้อยทีถ้อยอาศัยและจริงใจในทุกเรื่อง
    3 กลยุทธนี้ใช้ได้ผลแล้ว ในทุกสถานการณ์  ทำให้โรคจิตสลายบรรเทาลง
แม้ไม่หายขาด ก็น่าจะเจืออาการสติแตก ให้จาง จนจิตสว่าง.....
พอที่จะช่วยสร้างสรรคสังคมให้กระเตื้องขึ้นได้บ้าง
.....สักนิดก็ยังดี.

ขอขอบคุณ  :
จุฬาพิช  มณีวงศ์  เจ้าของคอลัมภ์  "คิด… เห็น… ประเด็นข่าว"
แห่งวารสารขวัญเรือน ผู้ให้ข้อคิดและคำแนะนำ


จัดทำโฮมเพจโดย พรรณี ชุติวัฒนธาดา / 1 เมษายน 2545.