๏ประชุมสภาเยาวชนฯคึกคัก

สภาเยาวชนแห่งชาติถือฤกษ์ "วันเด็ก" จัดประชุมขึ้นอีกครั้งในปีนี้ ที่ห้องประชุมคณะรัฐมนตรีเดิม ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล มีเยาวชน 260 คน จากทุกจังหวัดทั่วประเทศจัดการประชุม โดยจำลองจำนวนวุฒิสมาชิก 200 คน และอีก 60 คน เป็นตัวแทนเยาวชน ผู้พิการและด้อยโอกาสเข้าร่วมประชุม

การประชุมดังกล่าวมีกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับองค์การยูนิเซฟจัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ฝึกให้เยาวชนฝึกคิด วิเคราะห์เป็นกระบวนการ และเมื่อผ่านโครงการนี้ไปแล้วจะทำให้เยาวชนกล้าคิด กล้าแสดงความคิดเห็นในทางสร้างสรรค์ และเป็นแบบอย่างที่ดี

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกล่าวนำการประชุม โดยอธิบายถึงความสำคัญของสภาเยาวชนไทยแห่งชาติว่าเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการฟังเสียงสะท้อนจากเด็กและเยาวชนและจะเป็นสัญลักษณ์ของงานวันเด็กแห่งชาติทุกปี รัฐบาลตระหนักว่า "เยาวชนเปรียบเสมือนต้นกล้าแม้จะอ่อนแอหรือแข็งแรงเพียงใดก็มีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะได้รับการโอบอุ้ม จากผู้ใหญ่เพื่อให้เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มั่นคงแม้กระแสต่างๆ ในโลกจะเปลี่ยนแปลง รัฐบาลยังให้ความมั่นใจว่าสภาเยาวชนไทยแห่งชาติจะได้รับการสานต่ออย่างเป็นรูปธรรมต่อไป"

๏5กลุ่มเสนอ10โครงการพัฒนา

นายอนุสรณ์ อินทะแสง นักเรียนโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรค์ ชั้น ม.6 เปิดการประชุมสภาเยาวชนแห่งชาติ ด้วยการยก 5 แนวทาง 10 โครงการ ที่ได้หารือกับตัวแทนเยาวชนทั้งหมด เมื่อวันที่ 10-12 มกราคม มาเสนอรัฐบาล โดยขึ้นขอเสียงรับรองและเปิดอภิปรายรายละเอียดโครงการ ทั้ง 5 กลุ่มซึ่งประกอบด้วย

1.น.ส.กนกพร คำนิมิตร โรงเรียนสตรีราชินูธิป จ.อุดรธานี กลุ่มคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรมและประเพณีไทย 2.นายศักดิ์ดา ภารา โรงเรียนวัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ กลุ่มสิทธิและหน้าที่ของเยาวชน 3.นายสุรนาม พานิชการ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ กลุ่มการพัฒนาทางด้านการศึกษา 4.นายคมน์สิทธิ์ รัตนวชิรินทร์ โรงเรียนพระแม่มารี กรุงเทพฯ กลุ่มการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 5.น.ส.ธัญญา ลีฬทบุญเอี่ยม โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ กลุ่มการพัฒนาสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และชุมชน เป็นประธานกลุ่ม และโครงการของกลุ่มผู้พิการ

น.ส.กนกพร ตัวแทนกลุ่มคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรมและประเพณีไทย ลุกขึ้นอภิปรายว่า จะต้องเริ่มต้นที่สถาบันครอบครัวเพื่อปลูกจิตสำนึกให้แก่เยาวชนก่อน และได้เสนอ 2 โครงการคือ 1.โครงการพัฒนาจริยธรรมจากสถาบันครอบครัว แล้วจึงให้นำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน และให้สืบสานต่ออย่างมั่นคงและยั่งยืน 2.โครงการพัฒนาต้นแบบของสังคม เนื่องจากปัจจุบันเยาวชนขาดจริยธรรม และหลงลืมวัฒนธรรมของตนเอง ส่วนหนึ่งเพราะสื่อ ไม่ว่าทีวี หรือวิทยุ นอกจากนั้นยังอยู่ที่ตัวเยาวชนด้วยที่ขาดการพิจารณา ไตร่ตรอง อย่างเพียงพอ สำหรับโครงการนี้ครอบครัวต้องเป็นแบบอย่าง เช่น ชวนลูกไปวัด ซึ่งจะทำให้วัฒนธรรม และประเพณีคงอยู่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าประชุมบางคนลุกขึ้นแย้งว่าการแก้ปัญหาที่ครอบครัวนั้นเป็นไปได้ยากและไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาได้จริง

๏ติงผู้ใหญ่พูดอย่างเดียวไม่ยอมฟัง

นายศักดิ์ดาตัวแทนกลุ่มสิทธิและหน้าที่ของเยาวชน อภิปรายเป็นคนถัดมาว่า โครงการที่ 1 เสนอค่ายพัฒนาศักยภาพของเยาวชน เพื่อให้เยาวชนตระหนักในสิทธิของตนเอง มีวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้น ยอมรับความคิดเห็นผู้อื่น กล้าคิด กล้าทำ รวมถึงเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้อื่น ทำให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

"ปัจจุบันเยาวชนขาดทักษะในการอยู่ร่วมกัน และไม่มีโอกาสเพียงพอในการแสดงความคิดเห็น ถูกบีบให้อยู่ในกรอบเดิมๆ ของสังคม เนื่องจากผู้ใหญ่หลายคนพูดเพียงอย่างเดียว ไม่ยอมเปิดหูรับฟัง พอเด็กบอก ออกเสียงกลับไม่ได้ยิน มีผู้ใหญ่หลายคนที่ได้ฟังแต่ไม่ได้ยิน"

นายศักดิ์ดากล่าวต่อไปว่า โครงการที่ 2 คือโครงการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจว่าด้วยสิทธิและหน้าที่บรรจุเนื้อหา เนื่องจากเยาวชนถูกรุมเร้าจากสังคม มีผู้ใหญ่คอยสั่งเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะผิดหรือถูกต้องทำตามเรื่อยมา จึงเสนอให้รัฐบาลบรรจุเนื้อหาสาระหน้าที่ของเยาวชนลงในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน

"ขอให้บุคลากรที่สอนมีความสามารถ มีหัวใจในการปฏิบัติงานอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นผู้สั่งเพียงอย่างเดียว เมื่อเยาวชนรู้หน้าที่ตนเองแล้ว ผู้ใหญ่จะได้ไม่ต้องสั่งตลอดเวลา ทำให้เด็กรู้สึกว่ามีอิสระ(ผู้เข้าร่วมประชุมปรบมือสนับสนุน) แต่ต้องอยู่ในกรอบประเพณีที่ถูกต้อง" นายศักดิ์ดากล่าว

หลังจากตัวแทนกลุ่มสิทธิและหน้าที่ของเยาวชนเสนอโครงการจบ มีผู้เข้าร่วมประชุมลุกขึ้นทักท้วงว่าหากให้อิสระแก่เด็กมากเกินไปแล้วจะไม่ทำให้เด็กเสียคนหรือ

๏ยืนยันเด็กไทยคิดเป็น

ฝ่ายผู้เสนอโครงการลุกขึ้นยืนยันว่า "เด็กไทยถ้าหากรู้สิทธิของตัวเองแล้วก็จะรู้กรอบของตัวเองผมยืนยันว่าเด็กไทยคิดเป็น" เรียกเสียงปรบมืออย่างมาก

นายสุรนามตัวแทนกลุ่มการพัฒนาทางด้านการศึกษา เสนอโครงการพัฒนาบุคลากรเพราะบุคลากรเป็นส่วนสำคัญที่สุดในระบบการศึกษา แต่ปัญหาปัจจุบันคือ 1.บุคลากรบางคนไม่ตระหนักในหน้าที่ของตน คิดแต่เรื่องธุรกิจหรือรายได้ส่วนตัว ควรมีการโยกย้ายบุคลากรเพื่อป้องกันการวางรากฐานของอำนาจ 2.บุคลากรมีความสามารถไม่เท่าเทียมกัน โรงเรียนต่างจังหวัดบางแห่งนำครูที่มีความรู้ไม่เพียงพอสำหรับชั้นเรียนนั้นๆ มาสอน ควรกระจายบุคลากรที่มีคุณภาพให้ทั่วถึง

โครงการกระจายปัจจัยทางการศึกษาจะเน้นปัญหาในชนบทที่ยังขาดแคลนสื่อการเรียนที่มีคุณภาพอีกมาก ปัจจัยในการศึกษายังไม่เพียงพอ นอกจากนั้นควรจะกระจายทุนการศึกษาให้ทั่วถึง เพื่อเด็กไทยมีการพัฒนาศักยภาพอย่างเท่าเทียมกัน หลังจากเสนอโครงการเสร็จก็ได้มีผู้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงปัญหาที่ชัดเจนขึ้นว่า

"โรงเรียนตามต่างจังหวัดบางโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์เข้ามาแล้วแต่กลับไม่มีไฟฟ้าให้ใช้ นี่หมายความว่าอย่างไร" นายสุรนามกล่าว

๏'ไชลด์เซ็นเตอร์'กลายเป็น'ควายเซ็นเตอร์'

ระหว่างการขอมติรับรองโครงการพัฒนาทางด้านการศึกษา น.ส.หิรัญญา วิวัฒน์เดชากุล นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเซนฟรังซิสซาเวียร์ คอนแวนต์ ได้ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นต่อระบบการปฏิรูปการศึกษาว่า "ที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลางหรือ 'ไชลด์ เซ็นเตอร์' (Child Center) จะทำให้เรามีเขางอกและนกเอี้ยงเป็นเพื่อน เพราะพื้นฐานของเด็กที่จะแสดงความคิดเห็นร่วมกันนั้นไม่เท่ากัน และระบบนี้นำไปสู่ระบบ 'ควายเซ็นเตอร์' แม้จะเป็นการใช้คำที่ดูค่อนข้างรุนแรง แต่ต้องคิดด้วยว่าในเมื่อเราไม่รู้ แต่ให้เราไปพูดคุยกันเอง แล้วจะคุยอะไรกัน สำหรับพวกเราซึ่งเป็นเด็กกรุงเทพฯ มีอินเตอร์เน็ตคาเฟ่เปิดให้บริการอยู่รอบโรงเรียนและนักเรียนมีกำลังจ่าย ซึ่งจะหาค้นคว้าข้อมูลเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าเป็นโรงเรียนในชนบทที่ยังไม่มีสื่อการเรียนเช่นคอมพิวเตอร์ เขาจะทำยังไงและแก้ปัญหานี้ยังไง"

ทางด้านนายคมน์สิทธิ์ตัวแทนกลุ่มการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เสนอโครงการทุนวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาชนบทว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดปัจจัยเพื่อวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ทั้งบุคลากรและทรัพยากร เพราะบุคลากรที่มีคุณภาพส่วนใหญ่เกิดอาการสมองไหล เพราะพวกเขาไม่มีแรงจูงใจในการทำงานในประเทศ เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรสนับสนุนเด็กเยาวชนให้เรียนรู้และอยู่ในประเทศ โดยสนับสนุนด้านทุนกับผู้ที่มีความสามารถ ทำโครงการวิจัยรองรับผู้ที่เรียนจบทางด้านวิทยาศาสตร์

2.โครงการผลงานนี้มีดีสู่สายตาชาวโลกว่าควรมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี เพื่อให้ทั่วโลกรับรู้ถึงการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์และต้องจดสิทธิบัตรไว้ เพื่อสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ออกมาเป็นรูปธรรม

ต่อมา น.ส.ธัญญาตัวแทนกลุ่มการพัฒนาสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและชุมชน กล่าวถึงโครงการว่า 1.ต้องทำโครงการขยะสร้างค่า ควรมีการจัดการกับขยะให้มากขึ้น เพื่อลดปริมาณขยะควรทำการรีไซเคิล ให้นำมาใช้ใหม่ได้ จะทำให้เยาวชนรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรอย่างจำกัด เพื่อที่ทรัพยากรธรรมชาติจะยังมีใช้ต่อไปในอนาคต

2.โครงการสุขภาพดีไม่มีขายถ้าอยากได้ต้องทำเอง ซึ่งการดำเนินงานจะต้องเริ่มจากเยาวชนในแต่ละท้องถิ่นร่วมกันคิดว่าจะมีกิจกรรมอะไร เพราะความเป็นอยู่แต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน จากนั้นต้องนำเข้าที่ประชุมเพื่อสรุปผล แล้วนำผลที่ได้มาปฏิบัติให้เหมือนกับหัวข้อโครงการที่ว่าจิตที่แจ่มใสขึ้นอยู่กับสุขภาพสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่ดี

๏น้อยใจนายกฯทำประชุมสภาสะดุด

ระหว่างที่เยาวชนกำลังอภิปรายใกล้จะจบนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาถึงห้องประชุม และมีผู้สื่อข่าวจำนวนมากพากันรุมนายกฯ ทำให้การอภิปรายหยุดชะงัก เนื่องจากสมาชิกสภาเยาวชนฯละสมาธิจากการประชุมไปสนใจบุรุษหมายเลขหนึ่งของประเทศ ทำให้เยาวชนหญิงผู้ร่วมประชุมคนหนึ่งลุกขึ้นกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือแบบน้อยใจว่า

"วันนี้ควรเป็นวันของเด็ก ควรจะใส่ใจเด็ก แต่ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น ถ้าสมาชิกไม่ใส่ใจจะเข้าใจหรือไม่ ดิฉันอยากให้ห้องประชุมนี้มีความศักดิ์สิทธิ์เช่นห้องประชุมทั่วไป"

ต่อมาตัวแทนกลุ่มผู้พิการได้เสนอข้อสรุปต่อที่ประชุมว่า ขอให้ทำคำบรรยายใต้ภาพในสถานีโทรทัศน์ทุกช่องให้คนหูหนวกได้ดู และจัดทำอักษรเบรลล์ หนังสือวารสาร หรือวรรณคดี สำหรับคนตาบอดเพื่อให้ก้าวทันโลก ควรติดตั้งลำโพงในรถโดยสารทุกคันเพื่อให้คนตาบอดทราบถึงจุดหมายปลายทางที่จะลง สุดท้ายให้โอกาสคนพิการได้เรียนหนังสือเท่าเทียมกับเด็กทุกคน

๏'แม้ว'ง้อไม่ฟังลูกหลานแล้วจะฟังใคร

ภายหลังเสร็จสิ้นการเสนอโครงการทั้งหมด พ.ต.ท.ทักษิณได้กล่าวแก่เยาวชนทุกคนว่า "สิ่งที่สภาเยาวชนฯทำรัฐบาลจะนำไปพิจารณา ถ้าไม่ฟังลูกหลานแล้วจะฟังใคร" จากนั้นประธานสภาเยาวชนฯได้มอบหนังสือโครงการทั้งหมดแก่นายกฯ

ในตอนท้ายของการประชุมนายกฯเดินทักทายเยาวชนทั้ง 260 คน อย่างเป็นกันเองและถ่ายภาพเป็นที่ระลึก มีเด็กจำนวนมากขอลายเซ็นนายกฯ

ก่อนจะปิดประชุมลงอย่างมีสาระและคุณภาพ


ไปไขข่าว


หิรัญญา วิวัฒน์เดชากุล ชื่อเล่นว่า  น้องเมย์  เป็นชาวกรุงเทพ  เกิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2528  เป็นบุตรีของ นายพีรพัชร  วิวัฒน์เดชากุล  และนางวิภาภรณ์  จันทานานนท์   มีอาชีพประกอบธุรกิจด้านวัสดุก่อสร้าง  การศึกษา  เริ่มชั้นอนุบาลและอนุบาล 1  ที่โรงเรียนอนุบาลจิรภา  จากนั้นเข้าเรียนต่ออนุบาล 2-3 ที่โรงเรียนเซ็นฟรังซิสซาเวียร์  คอนแวนต์     จบอนุบาลแล้วเข้าเรียนต่อ  ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น  และมัธยมศึกษาตอนปลายตามลำดับ  ขณะนี้กำลังอยู่ชั้น ม.5  สายศิลป์-คำนวณ
ระหว่างชั้น ม.1  เป็นรองหัวหน้าห้อง  และได้รับเหรียญน้ำใจดีเด่น  ซึ่งคัดจากผลงานในการร่วมกิจกรรมของโรงเรียน  เมื่อเรียนชั้น ม.2-3 เป็นหัวหน้าห้อง  เป็นสมาชิกวงดนตรีไทยของโรงเรียน  ตอนอยู่ชั้น ม.4  เคยเล่นออกรายการโทรทัศน์  กรมประชาสัมพันธ์ช่อง11
ในงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2541 ขณะเรียนชั้น ม.4  ได้รับตำแหน่งรองสภานักเรียน  รร.เซ็นฟรังซิสซาเวียร์  คอนแวนต์  และได้รับประกาศนียบัตรนักเรียนเรียนดี  และเหรียญนักเรียนประพฤติดี  ล่าสุดเป็นตัวเแทนของนักเรียนเข้าสัมมนา เรื่อง  พระราชบัญญัติปฎิรูปการศึกษา และได้รับเลือกจากการสอบคัดเลือกเป็นตัวแทน  นักเรียนเข้าค่ายเยาวชน  "ก้าวสู่ความเป็นนักเศรษฐศาสตร์"  จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
เมื่อขึ้น ม.5  ได้เป็นประธานสภานักเรียน  และยังเป็น "เชียร์ลีดเดอร์" ของโรงเรียนด้วย


ไปไขข่าว
18 มกราคม 2545.