ค้นพบเพลงไทยที่หายสาบสูญไปกว่า "ครึ่งศตวรรษ"


    มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ค้นพบเพลงไทยที่ได้บันทึกลงไว้เป็นโน้ตสากล ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๓ - ๒๔๘๕ จำนวนกว่า ๔๐๐ เพลง ที่หายสาบสูญไปจากสังคมไทยกว่า ครึ่งศตวรรษ หรือกว่า 100 ปี

    ดร.ปัญญา รุ่งเรือง อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปนิเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พบไมโครฟิล์มโน้ตเพลงไทย จำนวน ๕ ม้วน ที่มหาวิทยาลัย เค้นท์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ ขณะที่ได้รับเชิญไปสอนวิชาดนตรีไทย ที่มหาวิทยาลัยดังกล่าว โดยดร.เดวิค มอร์ตัน นักศึกษาชาวอเมริกัน ที่เข้ามาศึกษาดนตรี ไทยเพื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ได้ถ่ายไมโครฟิล์มโน้ตเพลงเหล่านี้ และนำไปเก็บไว้ ที่สถาบันมานุษยดุริยางค์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และได้มีสำเนาอยู่ตามสถาบันอื่นๆ อีก

    ดร.ปัญญา กล่าวว่า ได้จัดตั้งโครงการ "ฟื้นฟูโน้ตเพลงไทยฉบับครู" ขึ้น เพื่อการค้นคว้า วิจัยและถ่ายทอดโน้ตเพลงไทยเหล่านั้น ลงในคอมพิวเตอร์ เพื่อทำต้นฉบับ และดำเนินการ จัดพิมพ์เผยแพร่ต่อไป

    อย่างไรก็ตาม โน้ตเพลง ๖ เล่มนี้เป็นแต่เพียงส่วนน้อย ยังคงเหลือโน้ตเพลง ในไมโครฟิลม์ที่จะต้องถ่ายทอดลงคอมพิวเตอร์อีกถึงประมาณ ๓๐ เล่ม จำเป็นต้องใช้กำลัง คน กำลังสมองและค่าใช้จ่ายอีกเป็นจำนวนมากจึงจะสำเร็จโครงการ ทั้งนี้ จะจัดให้มีการ ฝึกซ้อมและบรรเลงเพลงตามโน้ตที่บันทึกไว้นั้นลงแผ่นซีดีต่อไปด้วย

    สำหรับโน้ตเพลงไทยเหล่านี้ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ ในช่วงที่ประเทศไทย ถูกอิทธิพลตะวันตก แผ่ขยายเข้ามาอย่างเต็มที่ คนไทยหันไปนิยม วัฒนธรรมตะวันตก แต่งกาย เต้นรำ ฟังและเล่นดนตรีแบบ ตะวันตก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงห่วงใยเกรงว่า ดนตรีไทยจะถูกวัฒนธรรม ตะวันตกเข้า ครอบงำ เบียดบัง จนเป็น อันตรายไป จึงทรงดำริให้บันทึกเพลงไทยลงไว้  เป็นโน้ตสากล และเก็บรักษาไว้ใน หอสมุด สำหรับพระนคร (หอสมุดแห่งชาติ ในปัจจุบัน) เพื่อปกป้องเพลงไทยให้คงอยู่ตลอดไปไม่มีวัน เสื่อมสูญ เนื่องจาก สมัยก่อนการสั่นสอนสืบทอดดนตรีไทย แต่เดิมมาอาศัยวิธี "มุขปาฐะ" คือ สอนกันด้วย "ปากต่อปาก" เป็นสำคัญ ไม่มีการบันทึกโน้ต

    การบันทึกโน้ตเพลงสมัยนั้นได้มีการตั้งเป็นกรรมการ ๔ คณะ คือ คณะนักดนตรีผู้บอกทางเพลง ซึ่งเป็นบรรดานักดนตรีไทย ในวงปี่พาทย์หลวง กรมมหรสพ บรมครูของครูดนตรีไทย เช่น หลวงประดิษฐ์ไพเราะ นายชั้น ดุริยประณีต นายบุญธรรม ตราโมท คณะผู้บันทึกโน้ตเพลง เช่น นายพิสมัย แช่มบาง นายบุญเอื้อ สุนทรสนาน นายสริ ยงยุทธ คณะพนักงานตรวจสอบ และคัดลอก โน้ตเพลง และกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ บรรจุ เพลงตรวจสอบและแก้ไข โดยมีพระเจนดุริยางค์ เป็นผู้ควบคุมดูแลในการจดโน้ตเพลง การดำเนินงานบันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากลดำเนินงานระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๓ ถึง ๒๔๘๔ จนถึงปัจจุบัน มีเพียงนายสริเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่

    ด้านนายสริ ปัจจุบันอายุ ๘๘ ปี กล่าวว่า ตอนนั้นที่บันทึก เพลงไทยเป็นโน้ต สากลอายุได้ ๑๘ ปี ทำงานอยู่ที่กรมมหรสพ การบันทึกเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องจำประโยค ลักษณะ จังหวะที่เล่นให้ได้ เพราะดนตรีไทยสมัยก่อนไม่มีการบันทึกเป็น ตัวโน้ต และระดับเสียงดนตรีไทยกับดนตรีสากลจะไม่เท่ากัน และเมื่อมีการค้นพบครั้งนี้ ก็รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่เป็นผู้จดบันทึก เป็นตัวโน้ต ทำให้ดนตรีไทยยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน

ที่มา : อ.ส.ม.ท.
ผู้เขียน: Thaimusic.com
25 กพ.2545

ไปไขข่าว


จัดทำโฮมเพจโดย พรรณี ชุติวัฒนธาดา
1 มีนาคม 2545