สืบค้นข้อมูลอย่างไรให้เร็วขึ้น
ดย พรรณี ชุติวัฒนธาดา
16 มีนาคม 2545

    ในโลกยุคปัจจุบันที่อะไรๆล้วนรวดเร็ว กระชับ ฉับไวนั้น  คำว่า  "ข้อมูล" ดูจะเป็นคำรวมที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าหมายถึง "สารสนเทศหรือสารนิเทศ อันเป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า Information ซึ่งราชบัณฑิตสถาน
กำหนดให้ใช้ได้ทั้งสองคำ คือ ในวงการคอมพิวเตอร์ การสื่อสารและธุรกิจ
นิยมใช้คำว่าสารสนเทศ  แต่ในวงการบรรณารักษ์และสารนิเทศศาสตร์ใช้
คำว่าสารนิเทศ  โดยความหมายกว้างๆหมายถึง  ข้อมูล  ข่าวสาร ความรู้ต่างๆที่มีการบันทึกอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ  การบริหาร
การแพทย์  การสาธารณสุข  การศึกษา การคมนามคม  การทหาร
และอื่นๆ" (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี: 2538)
และด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของยุค   ข้อมูลเหล่านี้จึงโลดแล่น อยู่ในเครือข่ายที่ส่งผ่านถึงกันได้ทั่วโลกซึ่งคนที่ไม่ยอมตกยุคคงต้องเริ่มปรับ เปลี่ยนวิถีชีวิตให้รู้จักอินเทอร์เน็ต   การสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และยอมรับคำๆนี้เข้ามาปะปนอยู่ในชีวิตประจำวันด้วย

    ในอินเทอร์เน็ตมีสิ่งที่เป็นข้อมูลฯ หรือสารสนเทศอยู่มากมายมหาศาล
ชนิดไร้ขอบเขต ไร้ขีดจำกัด   คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่เป็นปกติก็คงคุ้นเคยดี
กับการเสาะหา  สืบค้นข้อมูลข่าวสาร  แต่บางคนที่ยังไม่ค่อยได้ใช้ชีวิต
ยุ่งเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มากนัก  ก็มักจะคิดประมาณว่าเครื่องนี้คงเป็น
เครื่องมือเทวดา  สงสัยอยากรู้อะไรก็กดปุ่มแล้วคำตอบก็ไหลออกมา ส่วนอีกหลายๆคนที่เป็นประเภทมือใหม่ใช้คอมพิวเตอร์ได้ดี แต่นึกไม่ออก ว่าจะหาข้อมูลที่ต้องการให้ออกมาจากคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร
ก็คงจะกำลังหาวิธีการกันอยู่

     การหาข้อมูลด้วยอินเทอร์เน็ตนั้น  หากต้องการให้ได้ข้อมูลที่ดี
หรือตรงจุดที่ต้องการ  น่าจะต้องอาศัยหลายๆวิธีรวมกัน  โดยปกติแล้ว
เราจะเริ่มจากการใช้ เสริซ์เอ็นจิ้น (Search engine)หรือเว็บไดเร็คทอรี่
(Web directory) เช่น  www.yahoo.comหรือ www.sanook.com
ซึ่งมักจะให้ข้อมูลออกมามาก เกินกว่าที่จะเปิดดูได้หมด หรือถึงเปิดเข้าไปดู
ก็จะเป็นข้อมูลชนิดที่เรียกว่า "ผิวๆ"เนื้อเรื่องไม่ละเอียดเพียงพอ บางทีก็ไม่ตรง
จุดที่ต้องการรู้ หากพบสิ่งที่ ต้องการจากจุดทีเริ่มต้นนี้  ก็นับว่าโชคดีเหลือหลาย  แต่ปกติแล้วมักยากที่จะได้มาง่ายๆและรวดเร็วขนาดนั้น

    การมองหาหน้า ลิงค์ (link)  หรือเว็บบอร์ด (web-board) หรือแช็ตรูม (chat-room)ในเว็บไซต์ที่เราพบเป็นวิธีหนึ่งที่ประหยัดเวลาได้ดีทีเดียว  เพราะหน้าลิงค์มักรวมเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับเว็บต้นทางนั้นๆ  ดังนั้น หากเรา
เข้ามาถูกเรื่องแล้ว   ลิงค์ก็จะเป็นเรื่องเดียวกัน  เพราะหากลิงค์เป็นคนละเรื่อง
กับเรื่องที่เราหา  ก็แปลว่าเว็บไซต์นี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราอยากรู้
มากสักเท่าไร  เราไม่ต้องเสียเวลา  โบกมือลาจากไปจะดีกว่า

    อันที่จริงแล้ว สิ่งที่ต้องการค้นหานั้นมักจะอยู่ที่เว็บบอร์ด กับ แช็ตรูมนี่เอง  เพราะเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมากอย่างหนึ่งตรงที่คนที่เป็นขาประจำเว็บบอร์ด หรือแช็ตรูมในหัวข้อกระทู้ใดๆ มีไม่น้อยทีเดียวที่มักจะเป็น "ตัวจริง"
ในเรื่องนั้นๆด้วย เรื่องของเรื่องก็คือ  หาคนให้เจอ  จากนั้นก็ถามเรื่อง
จากคนๆนั้น นั่นแหละ  ซึ่งเว็บบอร์ดหรือแช็ตรูมก็มีไว้เพื่อการนี้อยู่แล้ว
ด้วยคำถามกระทู้ง่ายๆ เช่น  "ใน กทม. มีโรงเรียนอะไรบ้างที่เป็นโรงเรียน
ชายล้วน" หรือ  "อยากสอบเทียบภาษาอังกฤษ  ไม่ทราบว่ามีอะไรแนะนำ"  เราก็จะได้คำตอบดีๆชนิดคาดไม่ถึงเลยทีเดียวเชียว

     ปัจจุบันเว็บบอร์ด แทบจะเกี่ยวกับทุกประเด็นในโลก  เพียงแต่ต้องหา
จุดตั้งต้นให้พบ  บางครั้งจุดตั้งต้นอาจะเป็นเว็บไซต์ ประเภทรวมเว็บบอร์ดด้วย
เช่น  www.pantip.comแล้วจากเว็บบอร์ดรวม ถามไปถามมามันก็จะนำไปสู่
เว็บบอร์ดเฉพาะกลุ่มความสนใจซึ่งสามารถช่วยให้เราได้ข้อมูลที่ละเอียดขึ้น
จากนั้น  ทางอยู่ที่ปาก  ถามเอาในบอร์ด  คำแนะนำที่ได้อาจจะเป็นชื่อหนังสือ
ชื่อเว็บไซต์เฉพาะทาง หรือบางทีอีกฝ่ายก็ช่วยตอบ  จนหายสงสัยได้เลยทีเดียว  รวมทั้งอาจได้เพื่อนใหม่ๆที่มีความสนใจเรื่องเดียวกันนั้นอีกด้วย

     ดังนั้นในขณะนี้  แหล่งที่มีข้อมูลให้หาได้รวดเร็วที่สุดจึงน่าจะเป็นที่
การตั้งกระทู้  การถามหากับคนที่สื่อกันด้วยอินเทอร์เน็ต

     เครื่องคอมพิวเตอร์จึงไม่ใช่เครื่องมือเทวดาที่จะสามารถเนรมิตทุกอย่าง
ที่ต้องการให้ไหลออกมาดังใจหมาย หากแต่เป็นเพียงสื่อที่ช่วยให้เราเข้าถึง
อินเทอร์เน็ตและจากอินเทอร์เน็ตให้เราได้เสาะหา สืบค้นสู่ข้อมูลที่ต้องการได้
ถ้าเรารู้วิธีใช้เครื่องมือก็จะพบหนทางอย่างประหยัดเวลา และที่สำคัญได้เสาะ
แสวงหาอย่างอิสระเสรี เท่าที่คนต้องการและอยากจะหากับคนด้วยกันต่างหาก.


จัดทำโฮมเพจโดย : พรรณี ชุติวัฒนธาดา, 22 มีนาคม 2545.