รู้อย่างไร เก่งอย่างไร จึงจะดี

พรรณี  ชุติวัฒนธาดา

ที่ประเทศฝรั่งเศส มีบุคคลจำนวนหนึ่งมีความสำคัญต่อบริษัทมาก
และมีความรู้จริงในเรื่องหนึ่งคือการชิมเหล้าองุ่น
เขาไม่ต้องใช้หลักฐานแสดงความสามารถ
เพราะความสามารถของเขา คือ ผลงานจากการชิมรสเหล้าองุ่น

เขาจิบเหล้าองุ่นแล้วรายงานให้บริษัทผู้จ้างรู้ได้ว่า
เหล้าองุ่นที่หมักเอาไว้นั้นมาจากไร่ไหน  ถ้าพวกเขาชิมเหล้า
แล้วบอกว่า รสไม่ดี  ไม่เหมือนของเก่าปีก่อนๆ
บริษัทต้องรีบแก้ไขทันที  เพราะเขารู้รสของเหล้าองุ่นแต่ละปี
และสามารถปรับแต่งรสเหล้าองุ่นชนิดต่างๆ
ให้มีรสกลมกล่อมเท่ากันทุกปีได้

ความสามารถนี้ เกิดจากการเรียนรู้ในการชิมรสเหล้าองุ่น
อย่างช่ำชองและเชี่ยวชาญของบุคคลเหล่านั้น
ดุจเดียวกับที่พระยาศรีสุนทรโวหารกล่าวไว้ว่า
"อันความรู้รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว
ขอให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล"  นั่นเอง

และ...

ครั้งหนึ่งในรัฐบาลสยามประเทศ  มีคนไทยคนหนึ่ง
เก่งภาษาอังกฤษมาก  แม้คนอังกฤษที่มีความรู้ดีๆบางคน
ยังสู้ท่านไม่ได้  ท่านผู้นี้คือ พระยาไมตรีวิรัชกฤตย์ (พุ่ม บุนนาค)
เมื่อครั้งที่ท่านรับราชการอยู่ที่กระทรวงต่างประเทศ
ได้เขียนจดหมายราชการส่งไปยังสำนักงานสันนิบาติแห่งชาติ
เจ้าหน้าที่ชั้นสูงที่นั่นต่างก็กล่าวกันว่า  "รัฐบาลสยาม
จ้างคนอังกฤษที่แต่งภาษาอังกฤษดีที่สุดไว้ใช้"

พระยาไมตรีวิรัชกฤตย์ไม่เคยไปเรียนเมืองนอกและไม่เคย
ศึกษาในขั้นมหาวิทยาลัย  ทำไมท่านจึงมีความสามารถ
ถึงเพียงนี้ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษเลย เพียงแต่ท่านฝึกฝน
เล่าเรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเองอย่างสมำ่เสมอและ
เอาใจใส่ตลอดเวลา

เมื่อเราพบเห็นคนเก่งทางใดทางหนึ่ง  เรามักนึกว่า
เขามีพรสวรรค์  มีอะไรพิเศษเหนือคนธรรมดา
ที่จริงแล้ว คนเก่งไม่ได้มีอะไรพิเศษเกินคนอื่นเลย
นอกจากความตั้งอกตั้งใจ  ความใส่ใจ
ความมุ่งมั่นและความขยัน

คิดให้ดี........
ถ้าเรามีความตั้งใจ  มีความมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ให้เท่าเขาคนรู้ (จริง) คนเก่ง (จริง) เหล่านั้น
เราจะเป็นคนมีความรู้  เป็นคนเก่งได้เท่าเขาไหม



1 มิถุนายน 2545