เครือข่ายเสมือน - อีกหนึ่งนวัตกรรมที่ช่วยการเรียนการสอน
พรรณี ชุติวัฒนธาดา
            ปัจจุบันนักเรียนคุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์และรู้จักที่จะใช้เวลาทั้งวันไปกับการเล่นเกมสนุกๆที่มีอยู่ในคอมพิวเตอร์มีเดีย โดยไม่สนใจที่จะศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนเหมือนแต่ก่อนจากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่าเยาวชนเป็นจำนวนไม่น้อยในระดับมัธยม
ที่สอนอยู่ ใช้เวลาตลอดสัปดาห์เข้าไปนั่งเล่นเกมส์ในร้านไซเบอร์คาเฟ่ข้างโรงเรียนในเวลาเรียนได้ทั้งวัน โดยผู้ปกครองไม่ทราบ  และครูได้เช็คขาดเรียนโดยเข้าใจผิดว่าป่วย  ต่อเมื่อย่างเข้าสัปดาห์ต่อมา ครูได้ติดต่อไปยังผู้ปกครอง และร่วมกันสืบดูพฤติกรรม จึงได้ทราบว่าตลอดสัปดาห์ที่แต่งเครื่องแบบนักเรียนออกจากบ้าน มาโรงเรียนพร้อมกับผู้ปกครองทุกวันนั้น  นักเรียนไม่ได้เข้าประตูโรงเรียน แต่เข้าประตูร้านไซเบอร์ที่อยู่ใกล้ๆโรงเรียนนั่นเอง  ผู้เขียนได้ปรารภกับเพื่อนครูต่างโรงเรียนอีกหลายแห่ง  ก็ได้พบปัญหาทำนองเดียวกัน  จึงเกิดคำถามขึ้นว่า
-ทำไมเกมส์ในคอมพิวเตอร์จึงดึงดูดความสนใจของเยาวชนนักหนา
-เดี๋ยวนี้ การเรียนการสอนในห้องเรียนน่าสนใจน้อยกว่าเกมส์มาก จนกระทั่งนักเรียนหมดเยื่อใยที่จะเข้าเรียนได้อีกต่อไปแล้ว หรือไร
-ไม่มีใครเลยหรือที่จะแนะนำนักเรียนให้เรียนรู้วิธีการแสวงหาความรู้สนุกๆจากอินเทอร์เน็ตซึ่งมีอยู่มากมายมหาศาล และก็อยู่ในคอมพิวเตอร์ ที่นักเรียนเล่นแต่เกมส์นั่นแหละ
-หรือว่า แหล่งความรู้สนุกๆที่มีมากมายเหล่านั้นต้องใช้ระบบอินเทอร์เน็ตที่ยุ่งยากมากสำหรับสถานศึกษาที่ไม่พร้อม  ในร้านไซเบอร์มีระบบพร้อมกว่า  สะดวกกว่า  เล่นเกมส์ทางอินเทอร์เน็ตก็ง่ายดาย
-หรือว่า อันที่จริงแล้ว  เรายังขาดแคลนข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนของเรา  นักเรียนพันธ์ใหม่พิจารณาเองได้ว่าเป็นแนวเก่า  ไม่สมยุค  จึงเบื่อเหลือเกิน
-หากเป็นไปได้ทุกคำถาม   ครูที่ห่วงใยนักเรียน  คงจะเพิกเฉยต่อพฤติกรรมระบาดนี้ไม่ได้
            มีอะไรที่ครูจะทำได้บ้างในช่วงของการปฏิรูปการศึกษา  ก็น่าจะลองช่วยๆกันดู
            แนวคิดหนึ่งสำหรับครูที่พอจะมีความรู้ทางไอที (IT-Information Technology) อยู่บ้าง  คือ
-การจัดหา และรวบรวมการนำเสนอความรู้สนุกๆ ที่น่าสนใจและมีสาระซึ่งมีอยู่มากมายมหาศาลทางอินเทอร์เน็ตนั้น  มาหลอกล่อ และเรียกร้องความสนใจของนักเรียนบ้าง
-บอกวิธีการ ค้นหาและเลือกข้อมูลบนเครือข่ายให้นักเรียนเปิดหาสิ่งที่ตนต้องการได้   -แนะนำให้นักเรียนเปิดดูโฮมเพจจากเครื่องแม่ข่ายของโรงเรียน (server) บ้าง
-สำหรับบางสถานศึกษาที่กำลังรอความพร้อมของระบบอินเทอร์เน็ตอยู่  ครูอาจใช้การบันทึกความรู้ที่ค้นได้จากอินเทอร์เน็ตมาเก็บไว้  ในแผ่นซีดีรอมแล้วเปิดให้นักเรียนดูได้จากระบบออฟไลน์ที่มี  โดยที่ทุกข้อมูลมีสภาพเหมือนกับเปิดบนอินเทอร์เน็ต  ความรู้ที่นำมาบันทึกบนแผ่นซีดีรอมในลักษณะนี้ ดร.มธุรส  จงชัยกิจ*  เรียกว่า เครือข่ายเสมือน (Virtual Web) ซึ่งน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยการเรียนการสอนได้ในยุคนี้
         เครือข่ายเสมือน จึงเป็นข้อมูลที่ได้รับการเลือกสรรมาแล้วเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะของผู้จัดทำ  เนื่องจากระบบอินเทอร์เน็ต  ในบ้านเราเมืองเรายังขาดความพร้อมอยู่ไม่น้อย  อีกทั้งผู้คนในยุคนี้มีเวลาจำกัดนักในการเปิดหาข้อมูลต่างๆ   ต่อเมื่อค้นหาได้ข้อมูลที่คิดว่าน่าสนใจ  เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน  หากไม่บันทึกเก็บไว้  คิดรอที่จะเปิดดูใหม่ภายหลังอาจไม่พบข้อมูลนั้นอีก   เพราะระบบอินเทอร์เน็ตขัดข้องบ้าง  เจ้าของข้อมูลล้างข้อมูลออกแล้วบ้าง   การเก็บบันทึกข้อมูลทันทีที่พบเห็นมาไว้ในแผ่นซีดีรอมตามสภาพที่เปิดใช้บนเครือข่าย (อินเทอร์เน็ต)  เพื่อนำมาเปิดใช้ประโยชน์ภายหลังในเวลาใดก็ได้ที่ต้องการจะเปิด  จึงช่วยให้ผู้ใช้เกิดการแสวงความรู้ได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่

การพัฒนาเครือข่ายเสมือน
การพัฒนาเครือข่ายเสมือน  ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพราะปัจจุบันครูมีความรู้เบื้องต้นในการใช้งานคอมพิวเตอร์  รู้ภาษาต่างประเทศ  ใช้งานโปรแกรมอ่านข้อมูลเว็บ (the Use of Browser)ได้  เพียงเรียนรู้การพัฒนาข้อมูลเว็บในรูปของเว็บเพจ
(Wep Page Development) เพิ่มเติม  ก็สามารถพัฒนาเครือข่ายเสมือนได้แล้ว

การจัดเก็บข้อมูลเว็บเพื่อนำมาใช้เป็นเครือข่ายเสมือนแบบออฟไลน์
          โดยทั่วไป  ข้อมูลเว็บแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ คือ
1. ข้อมูลแสดงผลแบบไม่มีกรอบ  (Normal Page)
2. ข้อมูลแสดงผลแบบมีกรอบ  Framed Page)
        การจัดเก็บข้อมูลเว็บเพื่อนำมาใช้แบบออฟไลน์ควรใช้โปรแกรมประเภทบราวเซอร์  อย่าง Netscape Communicator Version 4  ขึ้นไป  เพราะมีการช่วยเหลือจัดการหลายอย่างที่ Internet Explorer ไม่มี เช่น การรับ-ส่งเมล์  การช่วยสร้างเว็บ (Netscape Composer)  ในการจัดเก็บแบบที่จะกล่าวถึงนี้  โปรแกรมจะช่วยดึงไฟล์ภาพมาเก็บรวมไว้กับไฟล์ HTML ตลอดจนการเชื่อมโยงสู่เว็บอื่นๆ (web Link) มาให้ทั้งหมด  โดยไม่เกิดการขาดตอน

การจัดเก็บข้อมูลที่แสดงผลแบบไม่มีกรอบ
        เมื่อพบข้อมูลที่ต้องการให้คลิกเมนู  File - Edit Page เมื่อข้อมูลมาครบ  บนหน้าจอของโปรแกรมช่วยสร้าง (Composer) แล้ว  คลิกเมนู File - Save as  เพื่อจัดเก็บข้อมูล  โดยใช้ชื่อที่มีมาให้แล้วในช่อง File Name ได้เลย ควรสร้าง Folder ขึ้นใหม่ในการจัดเก็บแต่ละครั้ง  เพราะไฟล์ภาพต่างๆที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นหน้านั้น  จะถูกดึงมาเก็บไว้ที่เดียวกัน  ขอให้คลิกปิดกรอบโปรแกรม  Composer ก่อนเริ่มการจัดเก็บครั้งต่อไป

การจัดเก็บข้อมูลที่แสดงผลแบบมีกรอบ
        ผู้ใช้ควรศึกษาวิธีพัฒนา  เว็บเพจแบบมีกรอบให้เข้าใจก่อนว่า การแสดงผลข้อมูลแบบมีกรอบเป็นการแสดงผล    ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของไฟล์มากกว่า  1 ไฟล์ขึ้นไปโดยมีไฟล์หลักเป็นตัวแบ่งเนื้อที่ออกเป็นกรอบต่างๆและเรียกเนื้อหาจากไฟล์อื่นๆ มาแสดงผลในแต่ละกรอบนั้น  ตัวอย่างเช่น จำนวนไฟล์เริ่มต้น คือ 3  เมื่อมีการแบ่งเป็น 2 กรอบ  และ จำนวนไฟล์เริ่มต้น
คือ 4  เมื่อมีการแบ่งเป็น 3 กรอบ  ในการจัดเก็บจึงต้องตามเก็บให้ครบ  และเปิดดูข้อมูลเริ่มจากไฟล์หลักที่แบ่งกรอบเสมอ  โดยเมื่อเข้าสู่หน้าจอที่แบ่งเป็นกรอบ  ให้ใช้คำสั่ง Edit Page-Save As เพื่อจัดเก็บไฟล์หลัก  โดยสังเกตว่าหน้าจอที่ปรากฏบนโปรแกรม Composer จะว่างเปล่า  คลิกบนพื้นที่ของกรอบที่ต้องการทีละกรอบ  ก่อนคลิกเมนูมาครบ  ใช้ชื่อที่ให้มาในการจัดเก็บแต่ละครั้งได้เลย  โดยคลิก Save  ข้อมูลไฟล์อาจต้องนำมาจัดการใหม่ในการเชื่อมโยง (Link) เพื่อให้ใช้งานได้แบบ Off Line

การออกแบบเว็บไซต์ทางการศึกษา
        การออกแบบสามารถคำนึงถึงการใช้งานเป็นหลักเพื่อกำหนดองค์ประกอบภายในเวป  เช่น  ออกแบบให้มีทั้งเนื้อหาสาระความรู้  กิจกรรมและแบบทดสอบต่างๆ  ตลอดจนแผนการสอน  หน่วยการเรียน  สาระความรู้สำหรับครู  ผู้เรียน  ผู้ปกครอง  เพื่อเสริมหลักสูตรการเรียนการสอน  หรือออกแบบเพื่อการค้นคว้า  ขยายวงความรู้ให้กว้างขวางออกไป  ด้วยการค้นหาแหล่งความรู้เว็บไซต์ที่น่าสนใจต่างๆ  มาจัดนำเสนอแบบพร้อมใช้  คือเป็นข้อมูลตำแหน่งเว็บไซต์  (Location)  ที่เพียงคลิกแบบข้อความ  ก็ส่งไปยังเว็บไซต์ที่ต้องการได้เลย
         ไม่ว่าจะออกแบบอย่างไร  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการสร้างเว็บเพจเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ง่าย    โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความรู้ทางการเขียนโปรแกรมภาษาHTML อย่างแต่ก่อน เพียงเรียนรู้หลักเบื้องต้นบ้างเล็กน้อย    ก็เพียงพอที่จะพัฒนาเวบเพจได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว  โปรแกรมที่ช่วยพัฒนาเว็บตัวหนึ่งที่หาใช้ได้ง่าย  และมีกันโดยทั่วไป  ได้แก่ Netscape Composer และ  Notepad  ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้ง่าย  ถูกออกแบบมาให้ช่วยพัฒนาเว็บ  ส่วน Notepad เป็นเอดิเตอร์ คือโปรแกรมช่วยเขียนคำสั่งใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วไปที่นำมาประยุกต์ใช้ได้  ทำให้ไม่ต้องพึ่งโปรแกรมเฉพาะทางอย่าง HTML Pro 3  ได้เลยเพราะมีมากับโปรแกรม Windows อยู่แล้ว

การออกแบบเว็บและโฮมเพจ
        การออกแบบเว็บและโฮมเพจต้องอาศัยความเข้าใจเบื้องต้น  ได้แก่
1. รูปแบบความเชื่อมโยงที่นิยมกันในการพัฒนาเว็บ (Link) ซึ่งได้แก่
-การเชื่อมโยงภายในไฟล์เดียวกัน
-การเชื่อมโยงระหว่างไฟล์  HTML และไฟล์ HTML ด้วยกัน
-การเชื่อมโยงจากไฟล์ HTML ไปยังเว็บไซต์อื่นๆ

2. การจัดทำภาพข้อความ  เพื่อนำเสนอในรูปแบบตั้งแต่เบื้องต้น  จนถึงระดับที่สวยงามเร้าใจ
-ภาพทีใช้ควรอยู่ในสกุล jpg -gif  แต่ปัจจุบัน  โปรแกรม Netscape Composer มีความสามารถแปลงไฟล์ให้ได้จากหลายสกุล
-การใช้ข้อความควรคำนึงถึง ฟอนต์ (Font) ซึ่งถ้าต้องการความสวยงาม  ขนาดคงที่และแน่ใจว่าผู้ใช้จะเห็นอย่างนั้นแน่นอน  ควรจัดทำเป็น Image Text  (ข้อความที่แปลงเป็นภาพ) เสียก่อนที่จะนำมาเสนอบนเว็บ จะช่วยได้มาก

3. การออกแบบไฟล์เริ่มต้นของ Homepage ในชื่อ index.htm  หรือ .html และเก็บไฟล์เป็นชุดหมวดหมู่เพื่อเรียกใช้งานง่ายและไม่เกิดปัญหาในการหาไฟล์ภาพไม่พบ  แล้วแสดงผลผิดพลาด

4.  การจัดทำเฟรม (Frame)  ปัจจุบันโปรแกรม Netscape  Composer มีความสามารถสูงมากในการช่วยเขียนเว็บ  แต่การจัดทำเฟรม  ยังพึ่งการเขียนคำสั่งภาษาHTML  โดยเอดิเตอร์ต่าง ๆ เช่น Notepad เป็นต้น  การจัดทำเฟรมเป็นการคำนึงถึงผู้ใช้  จึงออกแบบให้เกิดการใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น  คือ
-ลดการคลิกเลื่อนจอภาพ (Scrolling)  เพื่ออ่านข้อมูลยาวๆในหน้าจอได้
-จัดแบ่งพื้นที่บนจอทำให้เกิดระเบียบสวยงามน่าใช้  และเป็นสัดส่วนอิสระจากกัน

        ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้พัฒนาเครือข่ายเสมือนจะจัดสรรเนื้อหาสาระที่ได้มาจากการสืบค้น เพื่อนำไปสู่จุดประสงค์ใดของการเรียนการสอน  หรือในกลุ่มวิชาใดก็ตาม  ผู้เรียนล้วนสามารถศึกษาและใช้งานสื่อเหล่านี้ได้ตามต้องการ  ตลอดเวลาและเป็นรายบุคคล  ส่วนครูผู้สอนสามารถนำมาจัดกิจกรรมเสริมการเรียนการสอนโดยออกแบบกิจกรรมและแผนการสอนให้ใช้ได้ในสถานการณ์ทั้งในและ
นอกห้องเรียน

        เครือข่ายเสมือนจึงเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่ช่วยการเรียนการสอนในระยะปฏิรูปการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี.


 * พรรณี ชุติวัฒนธาดา อาจารย์สอนวิชาภาษาฝรั่งเศส โรงเรียนศรีพฤฒา กรมสามัญศึกษา กรุงเทพมหานคร
* ดร. มธุรส จงชัยกิจ อาจารย์ประจำภาควิชา การศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จัดทำโฮมเพจโดย พรรณี ชุติวัฒนธาดา